ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แปรปรวน ทั้งร้อน ฝนตก อาจช่วยกระตุ้นก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน แต่เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะยังไม่รู้จักโรคลมพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ป่วยจะต้องทรมานกับผื่นคัน ส่งผลต่อบุคลิกภาพและชีวิตประจำวัน
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นวันโรคลมพิษโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ จึงอยากให้คนไทยให้ความสนใจกับโรคใกล้ตัว เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคลมพิษเป็นโรคผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 หรืออาจถึง 10 ซ.ม. เกิดขึ้นเร็วตามตัว แขนขา มีอาการคัน แต่ละผื่นมักอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ
โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) คืออาการผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุเป็นปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้หวัด บางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย ผู้ป่วยบางรายก็หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก คอ หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย ลมพิษชนิดนี้มักหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วย ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์
โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) จะมีอาการผื่นเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ มีทั้งชนิดทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ
ในต่างประเทศมีข้อมูลว่าโรคลมพิษชนิดเรื้อรังพบร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ในไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอกแผนกผิวหนัง ร.พ.ศิริราช พบผู้ป่วยร้อยละ 2-3 ของผู้ป่วยที่มารักษา และพบได้ทุกอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้มักเครียดสะสม ละเลยต่อการดูแลสุขภาพ
ผู้ป่วยผื่นลมพิษควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิด 2.นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวเสมอ 3.ทำจิตใจให้สบาย 4.ไม่แกะเกาผิวหนัง 5.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง 6.อาจใช้คาลาไมน์ โลชั่น ทาช่วยลดอาการคัน
ผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดหอบหืดจนถึงชีวิตได้ แต่ในรายที่มีอาการชนิดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาตามแนวทางต่อไป
today thai news