จากที่กล่าวถึงหลักยา 9+1 รส สำหรับใช้ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพตามแบบแพทย์แผนไทยไปแล้ว ก็จะนำเสนอมุ่งเน้นสรรพคุณของรสชาติแต่ละรสในการรักษาโรคต่างๆ
ตามหลักการแพทย์แผนไทย
ยารสฝาด มีสารสำคัญคือ แทนนิน เป็นกรดอ่อนๆ มักพบในเปลือกต้นหรือแก่นของพืชเป็นส่วนใหญ่ เป็นรสยาที่นำไปใช้แก้ในทางสมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด ช่วยฆ่าเชื้อโรค ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย บำรุงธาตุ แก้ร้อนใน เคลือบแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อร่างกายเจ็บป่วยเราสามารถนำสมุนไพร หรืออาหารที่มีรสชาติฝาดมาใช้ในการรักษาหรือดูแลสุขภาพเราได้
ในทางตรงข้าม ถ้าร่างกายเราไม่มีโรคและอาการเหล่านี้ปรากฏ หากเราบริโภคอาหารหรือสมุนไพรรสฝาดมากเกินควร ก็จะก่อให้เกิดการแสลงหรือเกิดผลตรงข้าม คือ แทนนินมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร จะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูกเป็นพรรดึก เกิดโรคลม ทำให้กระหายน้ำ
สมุนไพรและพืชผักที่มีรสฝาดมีอยู่หลายชนิด เช่น ใบชา การแฟ ข้าวโพด ถั่ว เปลือกเงาะ เปลือกมังคุด เปลือกและเมล็ดองุ่น เปลือกทับทิม ดอกและเปลือกแค ฝรั่ง มะกอกไทย หัวปลี หยวกกล้วย กล้วยน้ำว้า ลูกฉิ่ง ผักเม็ก และผักกระโดน มะตูม มะขามป้อม ลูกหว้า เป็นต้น
ในการบริโภคนั้นเราสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบของสด ลวก นึ่ง แปรรูปเป็นอาหารตำรับต่างๆ หรือเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร ก็ล้วนแล้วแต่ก่อเกิดประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างของพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณนำมาใช้ในการรักษาโรค
แค ใช้เปลือกแคชั้นในที่มีสีน้ำตาลอ่อนอ่อนๆ ใช้เคี้ยว 3-5 นาทีแล้วคายทิ้ง วันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 3 วันจะหายจากอาการร้อนใน ปากเป็นแผล ส่วนดอกนิยมนำไปแกงส้มแก้ไข้หัวลม
ทับทิม ใช้ส่วนเปลือก ต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการบิดที่มีอาการปวดเบ่ง มีมูกและเลือดติด แต่ถ้าอาการหนักกว่านี้และถ่ายบ่อยครั้งก็ต้องรีบไปหาหมอทันที
ฝรั่ง ใช้ผลอ่อนหรือใบ ต้มกับน้ำดื่ม ในกรณีท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง ยกเว้นอาการที่เกิดจากเชื้อบิดหรืออหิวาตกโรค ไม่สามารถรักษาได้
- รับประทานสด ใช้ส่วนที่เป็นยอดอ่อนๆ 7 ยอด หรือใบเพสลาด 6-8 ใบ ค่อยๆ เคี้ยวให้ละเอียดทีละน้อย ค่อยๆ กลืน แล้วดื่มน้ำตาม ถ้าเคี้ยวทีละมากๆ จะรู้สึกฝาดขม ถ้าเคี้ยวกับเกลือเล็กน้อยจะช่วยให้รับประทานง่ายขึ้น วิธีนี้ได้ผลมาก เพราะรับประทานทั้งน้ำและเนื้อของใบฝรั่งจนหมด ได้ตัวยาครบถ้วน หรืออาจรับประทานผลดิบ ครั้งละ 1-2 ผล โดยเคี้ยวก่อนค่อยกลืนก็ได้
- ต้มดื่ม ใช้ใบเพสลาด 5-10 ใบ หรือเปลือกต้นสดๆ 1 ฝ่ามือ ใส่น้ำ 2 ถ้วยแก้ว ต้มเดือดนาน 5-30 นาที เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง รับประทานตามอาการหนักเบา เวลาดื่มเติมเกลือเล็กน้อยทำให้ดื่มง่ายขึ้น
- ชงน้ำร้อนดื่ม เอายอดฝรั่ง 7 ยอด หรือใบฝรั่ง 6-10 ใบ ชงกับน้ำเดือด 2 แก้ว ปิดฝาไว้ 15-20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว ดื่มบ่อยๆ
- ต้มคั้นเอาน้ำ เอาใบฝรั่ง 6-10 ใบ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำสุก 3-5 ช้อนแกง ต้มให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาว เอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยดื่มจนหมด
- บดผงรับประทาน ใช้ผลฝรั่งที่เกือบแก่ หั่นเป็นแว่นบางๆ ตากแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1ช้อนชา โดยผสมน้ำ วิธีนี้รสชาติดีเด็กดื่มได้ง่าย
ข่อย ใช้เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง
ฝาง ใช้แก่นต้มน้ำแบบเคี่ยว ใช้แก้อาการท้องร่วง
มะตูม ใช้ผลแห้งต้มน้ำดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ ฆ่าเชื้อในลำไส้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุช่วยเจริญอาหาร
มะเดื่ออุทุมพร เปลือกต้นใช้ต้มชะล้างแผล แก้ท้องร่วง
มังคุด นับเป็นยาดีของไทยที่รู้จักการใช้ประโยชน์มาเนิ่นนาน ใช้เปลือกผลแห้งรักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้ ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดินยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูก และอาจมีเลือดด้วย) เป็นยาคุมธาตุ เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล วิธีการใช้รักษาโรค ดังนี้
1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้ใช้เปลือกมังคุดครึ่งผล (ประมาณ 4-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ถ้าเป็นยาดองเหล้า ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา
2. ยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง ใช้เปลือกผลมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำรับประทาน ใช้เปลือกต้มน้ำให้เด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
3. ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1 ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผง ละลายน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
กล้วยน้ำว้า ต้องเป็นกล้วยดิบมีฤทธิ์ฝาดสมานรักษาอาการท้องเดิน มีสารที่สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารช่วยให้แผลปิดสนิท ใช้กล้วยดิบหั่นเป็นแว่นตากให้แห้ง แล้วนำไปบดเป็นผง รักษาอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ใช้ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนกล้วยสุกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย
พืชผักสมุนไพร ผลไม้ที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น ล้วนแล้วเป็นที่รู้จักในการบริโภคและการใช้ประโยชน์ หากศึกษาและเรียนรู้ประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ไว้ ยามถึงเวลาจำเป็นที่ต้องนำไปใช้ประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน ก็จะมีทั้งทักษะและความรู้ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพก่อนเจ็บป่วย หรือรู้วิธีการดูแลรักษาตนเองแบบง่ายๆ ด้วยพืชผักอาหารสมุนไพรราคาไม่แพงและประหยัดสตางค์ในกระเป๋า