นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สวนทุเรียนปลูกใหม่ อายุประมาณ 1 ปี ที่เพิ่งปลูกทดแทนหลังจากถูกน้ำท่วมใหญ่เสียหายเมื่อปลายปี 2554 ในพื้นที่อำเภอเมือง บางกรวย ปากเกร็ด จำนวน 4,000 ไร่ กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มหนุนสูงทะลักเข้าสู่ร่องสวน ทำให้ต้นทุเรียนเหี่ยวเฉา ขอบใบไหม้ และมีต้นทุเรียนตายทั้งสวนแล้ว จำนวน 50 ไร่ คาดว่าจะมีทุเรียนตายเพิ่มขึ้นอีก เพราะค่าความเค็มของน้ำยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำเค็มปีนี้มาเร็วและมีค่าความเค็มสูงมาก โดยในเดือนเมษายนอยู่ที่ 0.5-1 กรัม/ลิตร ลดลงจากเดือนมกราคม-มีนาคม ที่มีค่าความเค็มอยู่ที่ 2-6 กรัม/ลิตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุเรียน ทำให้รากแก้วเน่าและตาย เกษตรกรจึงต้องเร่งหาน้ำจืดสะอาดมารดต้นทุเรียน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้แจกน้ำให้ชาวสวน เพื่อลดความเสียหาย
ขณะที่การประปานครหลวง (กปน.) ให้ความช่วยเหลือแจกน้ำฟรี โดยให้ชาวสวนจัดหารถมาบรรทุกน้ำเอง แต่ประสบปัญหารถไม่เพียงพอ บางรายต้องลงทุนซื้อน้ำมาใส่ร่องสวนในราคาคันละ 1,200 บาท นอกจากนั้น กปน.ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่นำน้ำไปรดสวน โดยลดราคาบิลค่าน้ำ 20% ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายนนี้
ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรีจะเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการรับมือเบื้องต้นให้ชาวสวน เช่น การสังเกต หากมีขอบใบไหม้ ให้รีบใช้กรรไกรตัดใบที่ไหม้ออกให้เหลือใบสีเขียวไว้ปรุงอาหาร ส่วนแนวทางการป้องกัน ในปีหน้าจะรีบแจ้งเตือนให้เกษตรกรเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มให้เร็วขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน
นายอดิสรณ์ ฉิมน้อย อดีตประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ สร้างรายได้ปีละ 200 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียง 14 ไร่เท่านั้นที่ยังให้ผลผลิตได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท หรือรายได้หายไป 150 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ปลูกใหม่ทดแทนหลังน้ำท่วมก็ถูกน้ำเค็มรุกล้ำเสียหาย ทำให้ผลผลิตทุเรียนปีนี้ออกสู่ตลาดน้อยมาก จึงมีลูกค้าเข้ามาจองถึงสวนเต็มทุกสวนแล้ว โดยราคาทุเรียนพันธุ์ก้านยาวได้ปรับสูงขึ้นเฉลี่ยลูกละ 9,000-10,000 บาท จากราคาเดิมลูกละ 5,000-8,000 บาท คาดว่าภายใน 5 ปีนี้จะหาทุเรียนเมืองนนท์รับประทานได้ยาก
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจสวนทุเรียนในเขตอำเภอเมือง บางกรวย ปากเกร็ด พบว่าต้นทุเรียนสูงประมาณ 2 เมตรอยู่ในสภาพเหี่ยว ขอบใบไหม้เป็นสีน้ำตาลเข้ม บางต้นเริ่มตาย ส่วนพืชที่ปลูกแซมสวนทุเรียน เช่น มังคุด และผักสวนครัว ก็เริ่มตายแล้วเช่นกัน
นางศรียงค์ วิมลสรกิจ ชาวสวนทุเรียน ตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด กล่าวว่า เมื่อปี 2554 น้ำท่วมสวนทุเรียน 200 ต้น เสียหายทั้งหมด 100% มูลค่า 3-4 ล้านบาท ปี 2555 ลงทุนปลูกใหม่ 80 ต้น ตอนนี้เจอปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ทำให้ทุเรียนยืนต้นตายไปแล้ว 50 ต้น แนวโน้มอาจจะตายยกสวน เพราะปัญหาน้ำเค็มยังไม่ลดลง
สอดคล้องกับนางไสว ทัศนีย์เวช ชาวสวนทุเรียนตำบลบางรากน้อย อำเภอเมือง ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนที่ปลูกใหม่หลังน้ำท่วม จำนวน 9 ไร่ ใช้เงินลงทุน 300,000 บาท ขณะนี้เริ่มเหี่ยวตาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากน้ำเค็มรุกล้ำ และยังประสบปัญหาน้ำเสียที่ปล่อยมาจากบ้านจัดสรร ซึ่งชาวสวนบางรายต้องหันไปใช้น้ำประปามาใส่ร่องสวน ทำให้ค่าน้ำประปาพุ่งสูงถึงเดือนละ 20,000 บาท
นางไสวเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันชาวสวนได้ทยอยขายที่สวนทุเรียนให้นายทุนที่ทำบ้านจัดสรร ซึ่งราคาที่ดินในตำบลบางรากน้อยพุ่งสูงจากไร่ละ 5-6 ล้านบาท เป็นไร่ละ 10 ล้านบาท ปัญหาที่ตามมาคือการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ส่งผลกระทบสวนทุเรียนที่เหลืออยู่
http://money.sanook.com/182864/