เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
อีกหนึ่งสมุนไพรที่คนกำลังกล่าวถึงกันมากในขณะนี้ก็คือ "ใบแปะก๊วย" ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน และเชื่อกันว่า มีสรรพคุณบำรุงสมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอม จะพาคนรักสุขภาพ ไปไขข้อข้องใจกันค่ะ
สำหรับ "แปะก๊วย" (Ginkgo biloba : กิงโกะ บิโลบา) จะเรียกว่าเป็นพืชโบราณก็ว่าได้ เพราะถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 270 ล้านปีก่อน ในสมัยเดียวกับไดโนเสาร์ โดยคำภาษาจีน ออกเสียงว่า "หยินซิ่ง" ซึ่งแปลว่า ลูกไม้สีเงิน ต่อมาได้มีผู้นำ "แปะก๊วย" เข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า "อิโจว" หรือ "คินนัน" ซึ่งมีความหมายไม่แตกต่างกับประเทศจีน
ทั้งนี้เมื่อพูดถึง "แปะก๊วย" คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเม็ดสีเหลือง ๆ ที่ใช้เป็นส่วนผสมของขนมหวานหลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นบะจ่าง แปะก๊วยนมสด แปะก๊วยต้มน้ำตาล ฯลฯ มากกว่า "ใบแปะก๊วย" ซึ่งมีหลายคนบอกว่า จริง ๆ แล้ว "ใบแปะก๊วย" นี่แหละที่มีประโยชน์มากกว่าผลแปะก๊วยเสียอีก
แปะก๊วย
ว่าแล้วเรามารู้จัก "ใบแปะก๊วย" กันเลยดีกว่า
"ใบแปะก๊วย" มีลักษณะเป็นใบสีเขียวแยกเป็น 2 กลีบ คล้ายใบพัด มีลักษณะพิเศษคือจะผลัดใบไม่พร้อมกันทุกต้น แต่เมื่อผลัดใบแล้ว ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วร่วงจากต้นภายในไม่กี่วัน ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1436 หรือเมื่อประมาณเกือบ 600 ปีที่แล้ว ในสมัยราชวงศ์หมิง ประเทศจีน ปัจจุบัน ใบแปะก๊วย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
ทั้งนี้ หากนำใบแปะก๊วยไปสกัดด้วยตัวทำละลาย จะได้สารสกัดไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) มีฤทธิ์้ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ และยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขึ้นตา ป้องกันการเกิดแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน
ส่วนผู้ป่วยโรคหอบหืด หากรับประทาน "ใบแปะก๊วย" ก็สามารถป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลมได้ หรือใครที่มีอาการปวดขา การทาน "ใบแปะก๊วย" ก็ยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังประสาทมือและเท้า ลดอาการปวดต่าง ๆ ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ.1996 มีการทดลองพบว่า "ใบแปะก๊วย" สามารถช่วยป้องกันอาการผิดปกติของการหายใจขณะขึ้นสู่ที่สูง (Asthma & Acute Mountain Sickness : AMS) ได้ รวมทั้งกำลังมีการศึกษาว่า "ใบแปะก๊วย" อาจมีสรรพคุณลดภาวะอาการหูอื้อลงได้ด้วย
ใบแปะก๊วย
ขณะที่การโฆษณาสรรพคุณของใบแปะก๊วยส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของประสิทธิภาพในการเพิ่มความจำ และบำรุงสมอง หลังจากเคยมีการวิจัยทางคลินิกบางแห่งพบว่า การสกัดใบแปะก๊วยนอกจากจะได้สารไบโอฟลาโวนอยด์แล้ว ยังจะได้สารไบโลบาไลด์ (Bilobalides) และกิงโกไลด์ (Ginkgolides) ซึ่งเชื่อกันว่า มีผลต่อความจำ และบำบัดอาการสมองเสื่อม เพราะสารทั้งสองตัวนี้ จะไปเพิ่มการหมุนเวียนโลหิตที่สมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น จึงช่วยเรื่องความจำได้ดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจจะสามารถป้องกันโรคความจำเสื่อม สมองฝ่อ อาการขี้หลงขี้ลืม วิงเวียนหน้ามืด โรคซึมเศร้าได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การวิจัยทางคลินิกหลายแห่งก็ยังไม่ได้สนับสนุนถึงสรรพคุณด้านนี้อย่างแน่ชัด โดยมีงานวิจัยบางแห่งกลับเห็นตรงกันข้ามว่า "ใบแปะก๊วย" อาจไม่มีความสามารถในการป้องกันอาการอัลไซเมอร์ หรือเพิ่มประสิทธิภาพความจำได้ ขณะที่งานวิจัยที่ระบุว่า "ใบแปะก๊วย" ให้ผลดีต่อสมอง ก็ยังมีข้อมูลไม่มากนัก ฉะนั้นแล้ว จึงยังไม่มีสถาบันใดออกมายืนยันชัดเจนถึงสรรพคุณข้อนี้ของ "ใบแปะก๊วย" จึงคงต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมให้ได้ข้อมูลมากกว่านี้ต่อไป
แต่ถึงแม้สรรพคุณของ "ใบแปะก๊วย" ในด้านการบำรุงสมองจะยังไม่แน่ชัด แต่เราก็เห็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใบแปะก๊วย ใบแปะก๊วยแคปซูล วางขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในทวีปยุโรปเอง โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน การจะรับประทาน "ใบแปะก๊วย" ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุข้อกำหนดในการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย ไว้ด้วยดังนี้
1.ในการใช้สารสกัดแปะก๊วยเป็นยาแผนปัจจุบัน จะต้องมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ รวมทั้งโรคของหลอดเลือดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังผิดปกติ โดยให้รับประทาน 40 มิลลิกรัม วันละ 3-4 เม็ด
ทั้งนี้ สารสกัดจากใบแปะก๊วยจัดเป็นยาอันตราย ต้องขายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน และไม่ให้มีโฆษณาสรรพคุณต่อสาธารณะ
2.ในการใช้สารสกัดแปะก๊วยเป็นยาแผนโบราณ ให้ขึ้นทะเบียนในลักษณะผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ ว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย และอนุญาตสรรพคุณของตำรับเป็นยาบำรุงร่างกาย
3.ในการใช้สารสกัดแปะก๊วย เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จะต้องได้รับใบสำคัญการใช้ฉลากอาหาร โดยอนุญาตเฉพาะที่มีขนาดรับประทานไม่เกินวันละ 120 มิลลิกรัม และจะต้องไม่ระบุสรรพคุณใด ๆ ในการบำบัดรักษาโรคเลย
ใบแปะก๊วย
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อแนะนำไม่ให้ใช้ "ใบแปะก๊วย" กับคน 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ที่ใช้สารป้องกันการเกิดลิ่มเลือด (Anti-coaggulant) เช่น ยา Warfarin , แอสไพริน , อิบูโพรเฟน และผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากใบแปะก๊วย มีผลทำให้เกิดเลือดออกตามร่างกายได้
2.ผู้ป่วยที่ความดันสูง หรือความดันต่ำกว่าปกติ หรือใช้ยาอยู่ เพราะใบแปะก๊วยจะไปทำให้หลอดเลือดขยาย และลดความดันลง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความดันต่ำลงมากเกินไปได้
3.สตรีมีครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
นอกจากนี้ ในบางคนหากทานใบแปะก๊วยมากเกินไป อาจได้รับผลข้างเคียง เช่น มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย ปั่นป่วนในระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจผิดปกติและหลอดเลือดผิดปกติ ผิวหนังมีอาการแพ้ เป็นต้น ซึ่งหากใครมีอาการลักษณะที่กล่าวมา ควรหยุดทานทันที