ในปัจจุบันนี้ถ้าจะพูดกันถึงโรคอันตรายที่สามารถป้องกันได้เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงต้องยกตำแหน่งให้กับโรคโปลิโอที่มีการตื่นตัวในการป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ใช่ว่าโรคนี้จะหมดไป เพราะยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจนมีอาการป่วยและกลายเป็นผู้พิการอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรคโปลิโอให้มากขึ้น มาดูกันว่า โปลิโอ สาเหตุมาจากอะไร อาการเป็นอย่างไร แล้ววิธีการป้องกันด้วยวัคซีนทำได้อย่างไรบ้าง
โปลิโอ
ภาพจาก polioeradication.org
โปลิโอ คืออะไร ?
โปลิโอ สาเหตุเกิดจากอะไร ?
โรคโปลิโอมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (poliovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คน ส่วนใหญ่แล้วจะพบในพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่อย่างแออัดและมีสุขอนามัยที่ไม่ดี โดยเชื้อสามารถติดต่อกันผ่านทางการสัมผัส หรือปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม และถึงแม้ว่าจะติดเชื้อแล้วก็อาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่ถึงกระนั้นก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้เช่นกัน ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านทางการรับประทานอาหาร เชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในระบบทางเดินอาหาร จากนั้นจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปควบคุมการทำงานของประสาทส่วนกลาง รบกวนการทำงานของเซลล์ประสาทซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต โดยเฉพาะบริเวณส่วนล่างของร่างกาย
โปลิโอ
ภาพจาก rotarygbi.org
โปลิโอ อาการเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้วเมื่อเชื้อไวรัสโปลิโอเข้าสู่ร่างกายแล้ว ในช่วงระยะฟักตัวของเชื้อ ผู้ป่วยกว่า 95% จะไม่มีอาการแสดงออก หรือถ้ามีอาการก็จะมีเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากนั้น 3-6 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ และเริ่มดีขึ้นภายใน 1-3 วัน ทั้งนี้่ผู้ป่วยที่มีการสำแดงอาการอาจมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส (aseptic meningitis) ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในช่วงหลังและมีระยะเวลาของอาการประมาณ 2-10 วัน จึงหายเป็นปกติ
ส่วนอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน สามารถพบได้เพียบ 0.1-2% ของการติดเชื้อทั้งหมดเท่านั้น โดยสังเกตได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจะมีระยะการฟักตัวของเชื้อนานกว่า คือประมาณ 7-21 วันหลังจากการรับเชื้อ และอาจมีอาการสมองอักเสบร่วมด้วย ขณะที่ในกรณีผู้ป่วยมีอายุมาก และมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลันก ว่า 80% จะมีอาการหลงเหลือในระยะยาว 2-10% อาจเสียชีวิต และมีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ อาจจะพบความผิดปกติที่เส้นประสาทสมองและกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจร่วมด้วย
ส่วนการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนสู่คน เชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้ตั้งเริ่มมีอาการจนถึงหลายสัปดาห์ เนื่องจากเชื้อสามารถอยู่ภายในร่างกายได้นาน 1-2 สัปดาห์ และสามารถอยู่ในอุจจาระได้นาน 3-6 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วยเชื้อจะสามารถอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นค่ะ
วิธีการรักษาโรคโปโลโอ
ปัจจุบันนี้โรคโปลิโอยังคงเป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคองไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วย
โปลิโอ ป้องกันได้อย่างไร ?
โปลิโอ
ปัจจุบันนี้โปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนโดยสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่เด็ก โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอนั้นมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่
1. ชนิดรับประทาน (Oral Poliovirus Vaccine, OPV)
วัคซีนชนิดนี้มาจากเชื้อโปลิโอที่มีชีวิตซึ่งผ่านกระบวนการทำให้เชื้อมีฤทธิ์อ่อนลงและไม่ก่อให้เกิดอาการกับผู้ที่รับวัคซีนชนิดนี้ โดยวัคซีนชนิดนี้ใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยการเลียนแบบการติดเชื้อแบบธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น วัคซีนชนิดกินจะทำให้ผู้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในเลือด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการพบว่าวัคซีนชนิดนี้อาจก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และทำให้เกิดโรคได้ บางประเทศจึงหันมาใช้วัคซีนชนิดฉีดแทนเพื่อความปลอดภัย
2. ชนิดฉีด (Inactivated Poliovirus Vaccine ,IPV)
วัคซีนแบบ IPV เป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อโปลิโอที่ตายแล้ว จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าชนิดกิน และทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ในเลือดสูงขึ้น โดยปัจจุบันวัคซีนโปลิโอจะถูกรวมไว้ในวัคซีนรวมที่จะต้องฉีดให้กับเด็กแรกเกิดเป็นหลัก และในหลาย ๆ ประเทศก็มีการใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นหลักแทนชนิดกิน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่ข้อเสียคือมีราคาแพงกว่า
ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยยังคงมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้ง 2 ชนิด ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนที่อยู่ในตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรคของประเทศ โดยชนิดนี้ OPV จะให้ด้วยการหยอดทางปากจำนวน 2 หยด และให้ทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี ส่วนเด็กที่ไม่เคยได้รับในช่วงแรกเกิดจะต้องให้วัคซีน 3 ครั้งห่างกัน 6-8 สัปดาห์ และครั้งที่ 4 ให้หลังจากครั้งที่ 3 ประมาณ 6-12 เดือน และควรให้ครั้งที่ 5 ในช่วงอายุ 4-6 ปี ส่วนวัคซีนชนิดฉีดหรือ IPV จะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6-18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4-6 ปี
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้วัคซีนชนิด OPV และ IPV
แม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะสามารถช่วยป้องกันโรคโปลิโอได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในกลุ่มคนบางกลุ่มด้วย เพราะถ้าหากใช้แล้วอาจจะทำให้ผู้รับวัคซีนไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนดีเท่าที่ควร หรืออาจไม่มีผลใด ๆ กับร่างกายเลยก็ว่าได้
1. ผู้ที่ห้ามใช้วัคซีนชนิดกิน (OPV)
ผู้ที่ห้ามใช้วัคซีนชนิดกินนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่เพียงเท่านั้นผู้ที่รับวัคซีนหากอยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ไม่ควรรับวัคซีนประเภทนี้ แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถรับวัคซีนชนิดฉีดแทนได้ค่ะ
2. ผู้ที่ห้ามใช้วัคซีนชนิดฉีด (IPV)
ถึงวัคซีนชนิดฉีดจะมีความปลอดภัยกว่า แต่ก็ไม่ควรใช้วัคซีนชนิดนี้กับผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีน IPV ในเข็มก่อนอย่างรุนแรง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติในการแพ้ยาก ลุ่มสเตรปโตมัยซิน (streptomycin) นีโอมัยซิน (neomycin) หรือโพลีมัยซิน บี (polymyxin B) เนื่องจากตัวยาทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นส่วนผสมในวัคซีน และในพื้นที่ที่มีการระบาดของโปลิโอก็ไม่ควรใช้วัคซีนฉีด เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันจะช้ากว่าชนิดกิน แต่สามารถใช้เสริมกันได้
โปลิโอ
ภาพจาก polioeradication.org
สถานการณ์โปลิโอทั่วโลกและในประเทศไทย
โรคโปลิโอยังคงเป็นโรคที่ยังพบการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา และยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้โรคดังกล่าวกลับมาแพร่ระบาดในวงกว้างได้ ส่วนในประเทศไทยนั้น องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรคโปลิโอแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ปี 2014 โดยในครั้งนั้นนอกจากประเทศไทยแล้วก็ยังมีประเทศในทวีปเอเชียอีกหลายประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปล ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต้ ที่ได้รับการประกาศเป็นประเทศปลอดโลกโปลิโอด้วย ซึ่งแม้ในประเทศไทยจะไม่พบการระบาดแล้วแต่ก็ยังคงมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโออย่างต่อเนื่องค่ะ
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรคโปลิโอได้กลายเป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่กำลังจะหมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ก็อย่าชะล่าใจเป็นอันขาดเพราะไม่แน่ใจว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวอาจกลับมาทำให้เกิดการระบาดในอนาคตก็เป็นได้ ดังนั้นเราทุกคนจึงควรป้องกันตัวเองให้ดี ด้วยการรักษาสุขอนามัยของตนเองให้ดีอยู่เสมอ หมั่นล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก ดื่มน้ำที่สะอาดอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดและมีการจัดการด้านสุขอนามัยที่ไม่ดี และควรให้บุตรหลานได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่องตามกำหนด เท่านี้เราก็สามารถป้องกันตัวเอง ครอบครัวและสังคมจากโรคอันตรายนี้ได้ด้วยความมั่นใจแล้วล่ะค่ะ
today thai news