n
ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรต้านหวัด
30,394อ่าน
731
ฟ้าทะลายโจร
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สสส.
เคยได้ยินมาว่า สมุนไพรไทยอย่าง "ฟ้าทะลายโจร" นั้นมีสรรพคุณดีเยี่ยมในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ มารู้จักฟ้าทะลายโจรกันให้มากขึ้นค่ะ
"ฟ้าทะลายโจร" เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees" และชื่อสามัญว่า "Kariyat" หรือ "The Creat" นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องที่ ได้แก่ หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวเข้มเป็นมัน มีดอกออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อยมีกลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ และมีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ส่วนปากล่างมี 2 กลีบ ลักษณะของผล จะเป็นฝัก เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น
สรรพคุณของฟ้าทะลายโจร
ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรมีรสขม จึงมีคุณสมบัติเป็นยาได้ดี โดยสรรพคุณหลักๆ ของฟ้าทะลายโจร มี 4 ประการคือ
1.แก้ไข้ทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองว่า ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ผู้ที่เป็นหวัด หรือร้อนในบ่อยๆ หากรับประทานฟ้าทะลายโจร จะสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น จึงไม่เป็นหวัดง่าย อาการร้อนในจะหายไป
2.ระงับอาการอักเสบ เช่น อาการไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี ฯลฯ
3.แก้อาการติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย กระเพาะ หรือลำไส้อักเสบ
4.เป็นยาขม ช่วยให้เจริญอาหาร
ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรนี้สามารถเสริมภูมิต้านทานดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ อีกทั้งไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน หรือดื้อยา เหมือนยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ฟ้าทะลายโจร ยังช่วยป้องกันตับ จากสารพิษหลายๆ ชนิด เช่น จากยาแก้ไข้พาราเซตามอล หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย
วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ตามอาการต่างๆ
แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ
ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ หรือหากเป็นฟ้าทะลายโจรผง ให้นำไปผสมน้ำผึ้งใช้กวาดคอ หรือหากเป็นยาเม็ด 250 มิลลิกรัม ให้รับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร และก่อนนอน 3-5 วัน เมื่ออาการหาย ก็หยุดยา
กระเพาะอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส
ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 3 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา
แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้ อาหารเป็นพิษ
ใช้ทั้งต้น หรือส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ (หนักประมาณ 3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน หรือให้รับประทานฟ้าทะลายโจร 2-3 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา ฟ้าทะลายโจรจะเข้าไปขับเอาสารพิษในลำไส้ออก และช่วยลดการระคายเคืองต่อผนังลำไส้ ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ลง ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ทั้งนี้ เนื่องจากฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ยาหยุดอาการท้องเสียโดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยจะยังคงถ่ายเหลวต่อไป หลังจากใช้ยา หากต้องการให้หยุดถ่าย ควรให้สารที่มีรสฝาดร่วมด้วย เช่นใบฝรั่ง น้ำชา หรือแป้งกล้วย
รักษาไข้ไทฟอยด์
ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร 2 เม็ด 3 เวลา ก่อนอาหาร เป็น เวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้น ควรกินยาบำรุงฟื้นกำลังผู้ป่วย ฟ้าทะลายโจร จะทำลายเชื้อไทฟอยด์ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง ในผนังลำไส้เล็ก ลำไส้ที่เป็นอัมพาตอยู่เดิม ก็จะเริ่มทำงาน นอกจากนี้ฟ้าทะลายโจรยังช่วยเร่งให้ตับสร้างน้ำดี ช่วยย่อยอาหารอีกด้วย
รักษาโรคตับ
รับประทานฟ้าทะลายโจร 2-3 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา และควร ให้ยาบำรุงร่วมด้วย หลังจากฟื้นไข้แล้ว
โรคงูสวัด
ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร 2-3 เม็ดก่อนอาหาร 3 เวลา เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เนื่องจากงูสวัดเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง จะอยู่นาน 3 สัปดาห์ ถ้าให้ฟ้าทะลายโจรครบตามเวลา งูสวัดจะไม่กลับมาเป็นอีก ส่วนตุ่ม แผลพุพอง ใช้ยาเสลดพังพอนทา หรือใช้ว่านนาคราช หรือใบจักรนารายณ์ ตำใส่สุรา ใช้ทาหรือพอกก็ได้
แผลจากโรคเบาหวาน
สามารถใช้ฟ้าทะลายโจร รักษาแผลอักเสบเนื่องจากเบาหวานได้ เพราะฟ้าทะลายโจร ทำไห้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ใช้ได้ทั้งกิน ทั้งทา
โรคเบาหวาน
ใช้ต้นฟ้าทะลายโจร และว่านเอ็นเหลือง กระชาย ทำเป็นยาเม็ดกิน
ริดสีดวงทวาร
ให้รับประทานฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 2-3 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน อาการเลือดออก หรือปวดถ่วงจะหายไป และถ่ายได้สะดวกเป็นปกติ
รูปแบบการนำไปใช้
1. ใช้ในรูปยาต้ม โดยใช้ใบและกิ่งสดล้างให้สะอาด สับเป็นท่อนสั้นๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง แก้เจ็บคอได้ หากจะใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด ให้ใช้ 2-3 กำมือ
2.ใช้ในรูปยาลูกกลอน โดยนำใบและกิ่งมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง บดให้เป็นผง ปั้นผสมกับน้ำผึ้งเป็นเม็ดขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ผึ่งให้แห้ง รับประทาน ครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
3.ใช้ในรูปยาแคปซูล โดยใช้ผงใบและลำต้นบรรจุลงในแคปซูล ใช้รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอน เพื่อให้สะดวกในการรับประทาน เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีรสขมมาก จึงนิยมใช้ในรูปยาลูกกลอนและรูปยาแคปซูล
4.ใช้ในรูปยาดองเหล้า นำใบฟ้าทะลายโจรแห้งขยำให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในขวดแก้ว แช่ด้วยเหล้าโรงพอท่วมยา ปิดฝาให้แน่น เขย่าขวดหรือคนยาวันละครั้ง เมื่อครบ 7 วัน กรองเอาแต่น้ำเก็บไว้ในขวดที่มิดชิดและสะอาด รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร
5.ใช้ใบค่อนข้างแก่ประมาณ 1 กำมือ ตำผสมเกลือเล็กน้อย เติมเหล้าครึ่งถ้วยยา น้ำครึ่งช้อนชา คนให้เข้ากันแล้วรินเอาน้ำดื่ม ส่วนกากที่เหลือนำไปใช้พอกแผล-ฝี แล้วใช้ผ้าสะอาดพันไว้
บุคคลที่ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร
1. ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A
2. ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
3. ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค
4. ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น
5.ผู้ที่เป็นความดันต่ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้
6.สตรีมีครรภ์
ข้อควรระวัง
1. ฟ้าทะลายโจรอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร
2. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์
3. หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์