สภาวิชาชีพ-สมาคมนักข่าว เรียกร้อง ช่อง 3 ยุติบทบาทหน้าจอ “สรยุทธ”

(1 มี.ค.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แถลงการณ์ เรื่อง การทบทวนการทำหน้าที่พีธีกรข่าว

โดยมีเนื้อหาว่า จากการที่ศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 59 ให้จำคุก นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด พร้อมผู้บริหารของบริษัทอีก 1 ราย เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตค่าโฆษณาของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และต่อมา นายสรยุทธ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และคำพิพากษาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ นายสรยุทธ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

แต่ในเวลาต่อมา ผู้บริกหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีมติให้ นายสรยุทธ ทำหน้าที่ต่อไป โดย นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้เหตุผลว่า เนื่องจากกรณีนี้ได้เกิดขึ้นก่อน นายสรยุทธ มาร่วมงานกับสถานี และคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิกระดับบุคคล และระดับองค์กรของสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับความคิดเห็นและปฏิกิริยาของส่วนต่างๆ ในสังคม และมีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะต่อความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนไทยในภาพรวม ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะที่ถูกสังคมตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่

ถึงแม้กรณีนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นการพิสูจน์ในขบวนการยุติธรรมว่า มีหลักฐานเพียงพอว่า นายสรยุทธ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางด้านอาญาและด้านจริยธรรม เพราะฉะนั้น สังคมจึงมีความคาดหวังว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะแสดงความรับผิดชอบ และเป็นตัวอย่างในการวางมาตรฐานจริยธรรม ด้วยการให้ นายสรยุทธ ยุติบทบาทหน้าจอ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

สื่อมวลชนไทยควรยึดมั่นในหลักการของการกำกับและดูแลกันเอง เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับเสรีภาพ ในการรายงานข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นมาตลอด แต่จุดยืนของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต่อกรณี นายสรยุทธ ทำให้หลักการของการกำกับดูแลกันเองของสื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น และเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับคนบางกลุ่ม ที่ต้องการผลักดันให้มีกลไกอำนาจทางกฎหมายในการควบคุม และลงโทษสื่อที่ละเมิดจริยธรรม

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของ นายสรยุทธ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย



today thai news

Related Post

Previous
Next Post »