ล้างผัก อย่างไร? ให้ปลอดภัยกับสุขภาพ สุขภาพ » วิธีดูแลสุขภาพ » ล้างผัก อย่างไร? ให้ปลอดภัยกับสุขภาพ



การ ล้างผัก เมื่อเลือกซื้อผักมาแล้ว ก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร ควรนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน ในปัจจุบันนี้ได้มีผู้เสนอแนะวิธีการ ล้างผัก มากมายหลายวิธีเพื่อลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างมากับผักให้ลดน้อยลง ซึ่งมีหลายวิธีดังต่อไปนี้คือ

1. การ ล้างผัก โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ทิ้งไว้นาน 15 นาที จะลดปราณสารพิษได้ 90-95% เป็นวิธีที่ปลอดภัย หลังจากแช่ผักในสารละลายของโซเดียมไบคาร์บอเนตในน้ำแล้ว ควรนำผักไปล้างน้ำออกหลายๆ ครั้ง เพื่อชะเอาสารพิษตกค้างที่ผิวออกให้หมด แต่มีปัญหาว่า วิธีนี้จะทำให้วิตามินเอในผักสูญเสียไปบ้าง

2. การแช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชู ใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำความเข้มข้น 0.5% (น้ำส้มสายชู อสร. 1 ขวด/น้ำ 4 ลิตร) แช่ผักที่เด็ดแล้วนาน 15 นาที จะสามารถลดปริมาณสารพิษลได้ 60-84%

3. การแช่ผักในน้ำยา ล้างผัก ใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 54-68% แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะน้ำยา ล้างผัก จะแทรกซึมเข้าไปในผักซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

4. การเปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่าน ผักซึ่งเด็ดเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่งเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงลงได้ 54-63%

5. การแช่ผักในน้ำสะอาด ควร ล้างผัก ให้สะอาดจากสิ่งสกปรกด้วยน้ำครั้งหนึ่งก่อน และเด็ดเป็นใบๆ แช่ลงในอ่าง ใช้น้ำประมาณ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 7-33%

6. การลวกผักด้วยน้ำร้อน จะลดปริมาณสารพิษได้ 50% ส่วนการต้มจะลดได้เท่ากับการลวกผัก แต่อีก 50% มีสารพิษออกมาจากผักอยู่ในน้ำแกง

7. การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า

8. การใช้ผงปูนคลอรีนแช่ผัก เพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำลายไข่พยาธิ โดยการละลายผงปูนคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-30 นาที จะฆ่าเชื้อโรคได้ดีมาก

การเก็บผัก พืชผักที่ล้างสะอาดแล้ว ควรเก็บให้ถูกต้องเพื่อเป็นการถนอมอาหารให้สดอยู่เสมอ และเป็นการป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคก่อนที่จะนำมาบริโภค ดังนี้

1. เก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 1.7-2 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 80-90% โดยใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกที่สะอาดไม่อัดแน่น และแยกประเภทกัน โดยมากมักเป็นพืชผักที่รับประทานใบ

2. เก็บไว้นอกตู้เย็นในภาชนะที่โปร่งสะอาด สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 ซม. มีการระบายอากาศดี ไม่อับชื้นมีสิ่งปกปิด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสัตว์นำโรค ได้แก่ พืชผักที่มีหัว เช่น หัวหอม หัวผักกาด กระเทียม เป็นต้น




ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 83 

Related Post

Previous
Next Post »