มะกรูดเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะนำมาใช้ในการทำอาหาร ช่วยบำรุงสุขภาพเสริมความงาม หรือแม้แต่นำมาปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากนี้มะกรูดยังมีประโยชน์และสรรพคุณดี ๆ อีกมากมายที่ไม่ควรมองข้าม เรามาทำความรู้จักกับเจ้าพืชสมุนไพรผิวขุรขระชนิดนี้กันให้ดีขึ้นกว่าเดิมดีกว่าค่ะ พร้อมแล้วไปดูกันเลย
มะกรูด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Kaffir lime, Leech lime, Mauritius papeda มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus x hystrix L. นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีชื่ออีกหลากหลายชื่อ อาทิเช่น มะขู (แม่ฮ่องสอน), มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ), ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) เป็นต้น เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูล ส้ม (Citrus) โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลักษณะของมะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้แข็ง ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูป มีใบย่อย 1 ใบ เรียงสลับ รูปไข่ คือมีลักษณะคล้ายกับใบไม้ 2 ใบ ต่อกันอยู่ คอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซ๋นติเมตร ใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ซึ่งผลแบบนี้เรียกว่า ผลแบบส้ม (hesperitium) ใบด้านบนสีเข้ม ใต้ใบสีอ่อน ดอกออกเป็นกระจุก 3 – 5 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรสีเหลือง ร่วงง่าย มีกลิ่นหอม มีผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาวผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ๆ
มะกรูดเป็นพืชสมุนไพรโบราณที่มีคุณประโยชน์ทางยามากมาย โดยสามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้รักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย มะกรูดมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีส่วนช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายและต้านทานโรคหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งบางชนิดด้วย นอกจากนี้มะกรูดยังมีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ อย่างเช่นเชื้ออีโคไล (E.coli) และซาลโมเนลลา (Salmonella) ได้ ช่วยบำรุงประจำเดือน ขับระดู และมักเป็นส่วนผสมสำคัญในยาสตรีต่าง ๆ อีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้น ส่วนต่าง ๆ ของมะกรูดยังมีประโยชน์อีกมากมายไปดูกันเลยค่ะ
รากของมะกรูดมีรสจืดเย็น สามารถช่วยแก้อาการไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน และช่วยอาการเสมหะเป็นพิษ
ผิวมะกรูด
ผิวของมะกรูดสามารถช่วยแก้อาหารนอนไม่หลับได้ โดยนำผิวของมะกรูดบดรวมกับรากชะเอม ไพล เฉียงพร้า ขมิ้นอ้อยแล้วนำมาต้มน้ำดื่ม
เป็นยาบำรุงหัวใจ โดนนำผิวมะกรูดฝานสดประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับพิมเสนหรือการบูรชงในน้ำเดือดแล้วแช่ทิ้งไว้ จากนั้นนำมาดื่ม
ช่วยแก้อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ โดยนำเปลือกมะกรูดฝานบาง ๆ ชงกับน้ำเดือดแล้วเติมการบูรเล็กน้อย นำมาดื่มเพื่อแก้อาการ
ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด ท้องอืด แน่นท้องได้
ช่วยขับสารพิษที่อยู่ในร่างกายให้ออกมาทางผิวหนังโดยการนำผิวมะกรูดมาใช้เป็นส่วนประกอบในการอบซาวน่าสมุนไพร
ใบมะกรูด
ช่วยแก้ไอ แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด
ช่วยแก้อาการช้ำใน
ใบมะกรูดอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนซึ่งช่วยในการชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็งและช่วยต่อต้านมะเร็งได้
ผลมะกรูด
ช่วยแก้อาการไอ ขับเสมหะ โดยการนำมะกรูดผ่าครึ่งและนำไปลนไฟให้นิ่ม แล้วค่อย ๆ บีบน้ำมะกรูดลงคอทีละนิดจะช่วยทำให้อาการบรรเทาลงได้
ช่วยฟอกโลหิต โดยนำผลมะกรูดสดมาผ่าเป็น 2 ซีกแล้วนำไปดองกับเกลือหรือน้ำผึ้งประมาณ 1 เดือน แล้วรินเอาแต่น้ำดื่ม
ช่วยแก้อาการปวดท้อง หรือใช้เป็นยาแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน โดยการนำผลมะกรูดมาคว้านไส้กลางออก นำมหาหิงคุ์ใส่และปิดจุก แล้วนำไปเผาไฟจนดำเกรียมและบดจนเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งไว้รับประทานแก้อาการปวดได้
ช่วยขับระดู ขับลม โดยผลมะกรูดนำมาดองทำเป็นยาดองเปรี้ยวไว้รับประทาน
ช่วยแก้อาการน้ำลายเหนียว
แก้เถาดานในท้อง
แก้ระดูเสีย ขับระดู
ช่วยขับลมในลำไส้
นอกจากนี้น้ำจากผลมะกรูดยังสามารถใช้แก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย โดยใช้น้ำมะกรูดถูบาง ๆ บริเวณเหงือกหลังแปลงฟันเสร็จจะช่วยทำให้อาการเลือดออกตามไรฟันบรรเทาลงได้
ประโยชน์ของมะกรูด สมุนไพรสารพัดประโยชน์
มะกรูดเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหารคาวหวานต่าง ๆ และยังนำมาใช้ในพระราชพิธีสำคัญอย่างเช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยในการประกอบพิธี น้ำของมะกรูดก็สามารถนำมาใช้แทน หรือน้ำมาผสมกับน้ำมะนาวเพื่อใช้ปรุงอาหารได้อีกด้วย โดยน้ำมะกรูดนั้นจะมีรสเปรี้ยวกลมกล่อมและมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ
มะกรูดไล่ยุง ไล่แมลง
ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก มีกลิ่นฉุน จึงสามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ เช่น มอดและมดที่อยู่ในข้าวสาร ด้วยการใช้ใบมะกรูดสด ๆ ฉีกใบเป็น 2 ส่วน ให้กลิ่นออก แล้วใส่ไว้ในถังข้าวสารก็จะทำให้มอดและมดไม่ขึ้นข้าวสาร แล้วถ้าหากถูกปลิงกัดละก็ให้นำมะกรูดมาลงตรงบริเวณที่มีปลิงเกาะจะทำให้ปลิงหลุดออกมาเอง นอกจากนี้มะกรูดสามารถใช้ในการไล่ยุงและกำจัดลูกน้ำโดยนำเปลือกมาตากแห้งแล้วนำไปเผาไฟก็จะสามารถไล่ยุงได้
ในปัจจุบัน มีการนำมะกรูดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงและแมลงต่าง ๆ ซึงในการเกษตรก็ได้มีการนำน้ำมันหอมระเหยมะกรูดมาผลิตในรูปของแคปซูลเพื่อใช้ไล่แมลงและหนอนสำหรับเกษตรกร โดยนำไปโปรยยังบริเวณที่ต้องการไล่แมลง แล้วน้ำมันจะค่อย ๆ ซึมออกจากแคปซูล วิธีการนี้ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีลดลงเป็นผลให้พืชผลทางการเกษตรปลอดสารเคมีมากขึ้้นอีกด้วยค่ะ
มะกรูดบำรุงผม
มะกรูดช่วยบำรุงผมให้เงางาม แก้อาการผมร่วง โดยการนำมะกรูดผ่าครึ่ง มาชโลมบนศีรษะหลังสระผมเสร็จทิ้้งไว้ซักพักแล้วล้างออก ก็จะช่วยทำให้ผมดำเงางามและลดผมร่วงได้ หรือจะนำน้ำมะกรูดมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็สามารถช่วงล้างสารพิษต่างๆ ที่มาจากสภาพแวดล้อมได้
ผมสวยไร้รังแคด้วยมะกรูด
สูตรนี้เหมาะสำหรับขจัดรังแค แก้คันศีรษะใช้หมักผมและหนังศีรษะ
นำมะกรูดเผาไฟให้พอมีน้ำมันซึมออกมาจากผิว และมีกลิ่นหอม แล้วนำผ่าครึ่ง
บีบน้ำมะกรูดมาชโลมให้ทั่วหนังศีรษะ หมักไว้ประมาณ 15-30 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผมนุ่มลื่นสลวยด้วยมะกรูด
สูตรนี้สามารถสระแทนแชมพูได้จะทำให้ผมนิ่ม ลื่น และรักษาอาการคันศีรษะได้อีกด้วย
นำมะกรูดผ่าครึ่ง ต้มกับน้ำเล็กน้อย สัดส่วน น้ำ : มะกรูด คือ 2 : 1 ตั้งไฟพอเดือดยกลง ปิดฝาทิ้งไว้ จากนั้นนำมาคั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง
นำน้ำมะกรูดที่ได้มาชโลมให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ ใช้ทำความสะอาดเส้นผมแทนแชมพู หรือใช้เคลือบเส้นผมแทนครีมนวดผมก็ได้
แชมพูมะกรูดสูตร 1
ส่วนผสม
1. มะกรูด 3 - 5 ผล
2. ใบหมี่ 10 ใบ
3. น้ำซาวข้าวเหนียว 1 ลิตร
วิธีทำ
มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก ตั้งน้ำพอเดือด ใส่มะกรูดและใบหมี่ลงไปในหม้อที่มีน้ำซาวข้าวเหนียว- รอให้เดือดต่อประมาณ 10 นาที ยกลงแล้วปิดฝาทิ้งไว้รอจนเย็น
ใช้ผ้าขาวบางกรองเอากากออก แล้วเก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู
แชมพูมะกรูดสูตร 2
ส่วนผสม
1. มะกรูด 3-5 ผล
2. หญ้าปักกิ่ง 1 ถ้วย
วิธีทำ
มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก หญ้าปักกิ่งทั้งต้นล้างน้ำให้สะอาดใช้ทั้งราก ทั้งใบ
ใส่มะกรูด หญ้าปักกิ่ง น้ำซาวข้าว ในหม้อตั้งไฟปานกลาง รอให้เดือดประมาณ 20 นาที ปิดฝายกลง
รอจนน้ำเย็น สังเกตสีของน้ำจะคล้ำขึ้น ใช้มือคั้นเอาแต่น้ำ ทิ้งกาก
กรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง เก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู
มะกรูดดับกลิ่น
มะกรูดสามารถดับกลิ่นต่าง ๆ อย่างเช่นกลิ่นคาวของอาหารคาวหาน หรือจะเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของเท้าโดยการนำมาผสมกับขิง ข่า และเกลือในปริมาณเท่า ๆ กัน ต้มให้น้ำอุ่นแล้วแช่เท้าลงไปประมาณ 15 นาที ก็จะช่วยลดกลิ่นอับที่เท้าและช่วยคลายความเมื่อยล้าได้ มะกรูดสามารถนำมาใช้ดูดกลิ่นที่มาจากรองเท้าหรือกลิ่นที่อยู่ตู้รองเท้าได้ ด้วยการใช้ผิวมะกรูด ตะไคร้หอม ถ่านป่น และสารส้ม มาใส่ถุงที่ทำจากผ้าขาวบาง เอาไปใส่ไว้ในตู้รองเท้าหรือในรองเท้า จะทำให้กลิ่นต่าง ๆ หายไป
มะกรูด มีโทษหรือไม่
ถึงแม้มะกรูดจะเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์แต่ถ้าหากใช้น้ำมันมะกรูดสัมผัสกับผิวโดยตรง เมื่อไปถูกแสงแดดก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดดจนกลายเป็นแผลไหม้ได้ เพราะในน้ำมะกรูดมีสารออกซิเพดามิน (oxypedamin) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อโดนแสงแดด (photo toxicity) และสารดีไลโมนีน d-limonene ซึ่งเมื่อโดนอากาศเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากนำน้ำมะกรูดมาสัมผัสกับผิวแล้วล่ะก็ ภายในสี่ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่โดนน้ำมะกรูดถูกแสงแดดค่ะ
เห็นไหมล่ะคะว่ามะกรูดเจ้าพืชสมุนไพรผิวขรุขระนี้มีประโยชน์มาแค่ไหน แถมมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มันยังสามารถนำมาทำประโยชน์ได้อีกมากมาย ถ้าหากใครที่กำลังสนใจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรล่ะก็ ไม่ควรพลาดผลิตภัณฑ์จากมะกรูดเลยล่ะค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นสมุนไพรไทย ๆ แล้ว ยังมีราคาไม่แพงด้วยนะ รับรองว่าใช้แล้วจะติดใจแน่นอนเลยจ้ะ