งานวิจัยพบยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียอาจต่อต้านเชื้อไวรัสซิก้าได้

บรรดาเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมในเมืองทาวน์สวิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กำลังเลี้ยงยุงเพื่อปล่อยออกไปในธรรมชาติ

คุณไมเคิ่ล บราวเน่ คุณครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในเมืองทาวน์สวิลล์บอกว่า เด็กนักเรียนของเขาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีปราบไข้เลือดออกและโรคติดต่อชนิดต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ

เด็กๆ จะนำไข่ยุงกลับบ้านเพื่อเลี้ยงให้เป็นตัวยุง ไข่ยุงเหล่านี้มีเชื้อเเบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เรียกว่า เเบคทีเรียวูลบัคเคีย (Wolbachia) เชื้อเเบคทีเรียนี้อาศัยอยู่ภายในเซลล์ของยุง และมีบทบาทช่วยป้องกันไม่ให้ยุงเเพร่เชื้อไวรัสต่อได้

รวมทั้งไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคซิก้า

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา คุณสก็อต โอ นีลล์ นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) และทีมงานวิจัย ได้นำไข่ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไปให้ชุมชนต่างๆ ในทาวน์สวิลล์ และเมืองแคนส์ เพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยออกไปในธรรมชาติ พวกเขาชี้ว่าวีธีนี้ใช้ได้ผลในการต่อต้านการเเพร่ระบาดของเชื้อไข้เลือดออก


คุณสก็อต โอ นีลล์ กล่าวว่าในเขตชุมชนที่อยู่ในโครงการนี้ พบว่าไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้เลือดออกเลย แต่มีการแพร่ระบาดของโรคในชุมชนใกล้เคียงที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ

ดูเหมือนโครงการนี้ได้ผลแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์นำโครงการนี้ไปทดลองใช้ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีจุดประสงค์ในการพิสูจน์ว่ายุงที่มีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียนี้ สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกได้จริงๆ

จุดเริ่มต้นของการศึกษาแบคทีเรีย

เริ่มมีแนวความคิดใช้เชื้อเเบคทีเรียเพื่อต่อต้านโรคต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ ในราวคริสต์ศวรรษที่ 1980 โดยเริ่มจากนักวิจัยศึกษาแมลงกินผลไม้สองชนิดคือแอปเปิ้ลกับส้ม เปรียบเทียบกัน

คุณไมเคิ่ล ทูเรลลี่ นักวิจัยเเละทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of California วิทยาเขต Davis ต้องการค้นหาว่า ความเเตกต่างที่พบเป็นเรื่องของพันธุกรรมหรือไม่ แต่เมื่อทีมงานพยายามผสมพันธุ์แมลงผลไม้ตัวเมียจากแคลิฟอร์เนียเหนือกับเเมลงผลไม้จากแคลิฟอร์เนียใต้ ทีมงานพบว่าแมลงออกไข่แต่ไม่ฟักเป็นตัว คุณไมเคิล ทูเรลลี่ ชี้ว่าพวกเขาแปลกใจมากต่อผลการผสมพันธุ์เพราะแมลงผลไม้จากสองแหล่งเป็นแมลงชนิดเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยค้นพบว่า แมลงผลไม้จากทางใต้ของรัฐเเคลิฟอร์เนียมีเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคีย แต่เเมลงผลไม้ตัวผู้จากทางเหนือของรัฐไม่มีเชื้อเเบคทีเรียนี้ และเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคียนี้ทำลายตัวอ่อนของแมลงผลไม้ที่ไม่เชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ในตัว แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ผลการศึกษานี้นำไปสู่ความคิดที่จะปล่อยยุงลายตัวผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย ออกไปในธรรมชาติเพื่อผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่ปลอดเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้ยุงไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ เป็นวิธีควบคุมประชากรยุงพาหะของโรคได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าเเมลง

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ค้นคว้าว่า พันธุกรรมตัวใดในแมลงผลไม้ที่ช่วยปกป้องแมลงจากเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ แต่พวกเขากลับค้นพบว่านี่ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม แต่เชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคียต่างหากที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ทำให้เชื่อว่าเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ อาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการต่อต้านเชื้อไวรัสซิก้า เชื้อไวรัสไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ

คุณสก็อต โอ นีลล์ แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช ในออสเตรเลียชี้ว่า การใช้เข็มดูดเอาเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียจากแมลงผลไม้ เพื่อนำไปฉีดให้กับยุงลายเสือเป็นงานที่ยากมาก

เชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ได้ส่งต่อจากตัวยุงไปยังไข่ของมัน และเมื่อยุงที่มีเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้ผสมพันธุ์กับยุงที่ไม่มีเชื้อเเบคทีเรีย มันสามารถเเพร่เชื้อแบคทีเรียต่อๆ กันไปได้อย่างรวดเร็ว และคงอยู่ในเซลล์ของยุงต่อไป
ยุงในเมืองทาวน์สวิลล์กับเมืองแคนส์ได้รับเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้กันเกือบหมดเเล้ว ภายในเวลาห้าปีหลังจากคุณสก็อต โอ นีลล์ นำเเบคทีเรียวูลบัคเคียไปฉีดให้ยุงในพื้นที่

เขากล่าวว่างานทดลองใช้เเบคทีเรียวูลบัคเคียเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในออสเตรเลียนี้ แม้จะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่ก็เป็นงานที่คุ้มค่ามาก

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)




Related Post

Previous
Next Post »