"2040" ถึงเวลามนุษย์ ยึดครองดาวอังคาร
เอ็ดวิน "บัซซ์" อัลดริน อดีตนักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำสถิติเป็นมนุษย์คนที่สองที่ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ต่อจาก นีล อาร์มสตรอง ในภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 เมื่อปี 1969 ให้สัมภาษณ์แสดงความเชื่อมั่นว่า ในปี 2040 โลกจะสามารถส่งทีมมนุษย์อวกาศเดินทางไปยังดาวอังคาร และผลัดเปลี่ยนกันไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนเป็นเรื่องปกติ
อัลดริน ซึ่งปัจจุบันนี้อายุ 86 ปีแล้ว ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ ระบุว่า นาซาตั้งเป้าจะส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวอังคารภายในปี 2035 แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ากำหนดเวลาที่เป็นไปได้จริงๆ น่าจะเป็นหลังจากนั้นอีกเล็กน้อย ในความเห็นของนักบินอวกาศผู้นี้ เมื่อถึงเวลานั้นนักบินอวกาศจากโลกจะเดินทางไปเยือนและลงสำรวจ "โฟบอส" ดวงจันทร์ของดาวอังคารจนเป็นเรื่องปกติแล้ว และอาศัยโฟบอสนี่เองเป็นเหมือนบันไดที่จะก้าวต่อไปเป็นการลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร
"จากที่นั่น เราสามารถจะจัดการเตรียมการขั้นสุดท้ายได้ สามารถตรวจสอบระบบสำหรับการตั้งหลักแหล่งที่พักอาศัย, เสบียงและสัมภาระ เรื่อยไปจนถึงระบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ซึ่งหากประสบความสำเร็จในการเตรียมการระบบเหล่านั้นบนโฟบอส การลงไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารก็เป็นเรื่องที่ทำได้แล้ว" อัลดรินบอกเอ็ดวิน อัลดริน ยังนำเสนอแนวความคิด ซึ่งถูกเรียกขานในเวลานี้ว่า "อัลดริน มาร์ส ไซเคลอร์" คือระบบที่มียานอวกาศโคจรอยู่เป็นประจำบนเส้นทางโคจรระหว่างโลกกับดาวอังคาร ซึ่งจะลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงสำหรับจรวดส่งในการเดินทางไปดาวอังคารแต่ละครั้งลงได้มาก ในขณะเดียวกันก็จำกัดความเสี่ยงที่ทางด้านสุขภาพของมนุษย์อวกาศในการเดินทางระยะทางไกลลงได้อีกด้วย
แนวความคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวความคิดในการลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่อย่างต่อเนื่องของมนุษย์บนดาวอังคารซึ่งอัลดรินเชื่อว่าเป็นไปได้ โดยต้องมีการจัดส่งมนุษย์อวกาศชุดใหม่ออกเดินทางไปดาวอังคารในทันทีที่มนุษย์ชุดแรกลงสัมผัสพื้นผิวดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้เพื่อให้มีมนุษย์อวกาศหมุนเวียนใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำ มีการสลับสับเปลี่ยนกันบ้างทำนองเดียวกันกับการสับเปลี่ยนมนุษย์อวกาศและทีมนักวิจัยต่างๆ ในสถานนีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)
อัลดรินเชื่อว่าปฏิบัติการบนดาวอังคารแต่ละครั้งควรจะเป็นปฏิบัติการระยะยาวที่กินเวลาอย่างน้อยที่สุด3 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าการเดินทางระหว่างโลกกับดาวอังคารที่สั้นที่สุดกินเวลาราวครึ่งปี เดินทางกลับอีกครึ่งปี แต่การเดินทางไปและกลับดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาตำแหน่งในวงโคจรของทั้งโลกและของดาวอังคารให้อยู่ในระยะที่ใกล้กันมากที่สุด ดังนั้นช่วงเวลาในการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นผิวดาวอังคารจึงน่าจะนานกว่า 1 ปีนั่นเอง
อัลดรินระบุว่า การที่ สก็อต เคลลี นักบินอวกาศของนาซา สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศไอเอสเอสนานถึง 340 วัน เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่โครงการสำรวจอวกาศในระยะยาวในอนาคต
ซึ่งรวมถึงการเดินทางไกลไปยึดครองดาวอังคารด้วยนั่นเอง
โพสต์โดยสมาชิก : รักอิสระ