รายงานพิเศษ : ลมพิษแบบเรื้อรัง โรคกวนใจอยู่ใกล้ตัว

รายงานพิเศษ : ลมพิษแบบเรื้อรัง โรคกวนใจอยู่ใกล้ตัว

ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แปรปรวน ทั้งร้อน ฝนตก อาจช่วยกระตุ้นก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน แต่เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะยังไม่รู้จักโรคลมพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ป่วยจะต้องทรมานกับผื่นคัน ส่งผลต่อบุคลิกภาพและชีวิตประจำวัน

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นวันโรคลมพิษโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ จึงอยากให้คนไทยให้ความสนใจกับโรคใกล้ตัว เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคลมพิษเป็นโรคผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 หรืออาจถึง 10 ซ.ม. เกิดขึ้นเร็วตามตัว แขนขา มีอาการคัน แต่ละผื่นมักอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ

โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) คืออาการผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุเป็นปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้หวัด บางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย ผู้ป่วยบางรายก็หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก คอ หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย ลมพิษชนิดนี้มักหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วย ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์


โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) จะมีอาการผื่นเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ มีทั้งชนิดทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ

ในต่างประเทศมีข้อมูลว่าโรคลมพิษชนิดเรื้อรังพบร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ในไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอกแผนกผิวหนัง ร.พ.ศิริราช พบผู้ป่วยร้อยละ 2-3 ของผู้ป่วยที่มารักษา และพบได้ทุกอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้มักเครียดสะสม ละเลยต่อการดูแลสุขภาพ

ผู้ป่วยผื่นลมพิษควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิด 2.นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวเสมอ 3.ทำจิตใจให้สบาย 4.ไม่แกะเกาผิวหนัง 5.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง 6.อาจใช้คาลาไมน์ โลชั่น ทาช่วยลดอาการคัน

ผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดหอบหืดจนถึงชีวิตได้ แต่ในรายที่มีอาการชนิดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาตามแนวทางต่อไป



today thai news

Related Post

Previous
Next Post »