10 เมนูสุดเสี่ยงท้องเสีย-ท้องร่วงฉลองต้อนรับปีใหม่
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่กินอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก ในช่วงฉลองปีใหม่ อาจป่วยโรคอุจจาระร่วง มี 10 เมนูเสี่ยง แนะยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เมนูจัดเลี้ยงต้องปรุงให้สุก ร้อน สะอาด โดยเฉพาะประเภทยำ ลาบ ส่วนผู้ที่เดินทาง หากแวะกินอาหาร ให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย และควรพกยาแก้ท้องเสีย เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยาลดกรดชนิดน้ำ ติดตัวไปด้วย บรรเทาอาการเบื้องต้น
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2559 ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมซื้ออาหารไปปรุงเอง สั่งซื้อจากร้านอาหาร และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเมนูที่นิยมรับประทาน คือ อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู หากกินอาหารทะเลแบบดิบๆ ปรุงไม่สุกพอ หรือล้างด้วยน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษตามมาได้
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ปรับปรุงสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ตรวจสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำดื่ม น้ำใช้อย่างเข้มข้น รวมถึงตรวจสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการล้างตลาด แพปลา เรือหาปลา ให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรค ในกรณีที่เกิดการระบาดของโรค ได้ขอความร่วมมือให้จังหวัดเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ติดตามสถานการณ์และการดำเนินการควบคุมได้อย่างทันท่วงที ป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีความสุขในการฉลองเทศกาลปีใหม่
ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ปรุงอาหาร ให้คำนึงความสะอาดและปรุงสุกด้วยความร้อนทั่วถึง ส่วนอาหารที่เหลือเก็บต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเสิร์ฟทุกครั้ง ผักผลไม้ ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด สำหรับผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ หากกินอาหารประเภทปิ้งย่าง เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ขอให้ปิ้งให้สุกก่อน รวมถึงเมนูที่มักเป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วง 10 เมนู ได้แก่
1.ลาบ ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
2.ยำกุ้งเต้น
3.ยำหอยแครง
4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก
5.อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด
6.ขนมจีน
7.ข้าวมันไก่
8.ส้มตำ
9.สลัดผัก
10.น้ำแข็ง
อาหารต้องปรุงไม่เกิน 4 ชั่วโมง ก่อนรับประทาน เพื่อความสดใหม่ของอาหาร
สำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว หากแวะรับประทานอาหาร ขอให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อยที่รับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และควรพกยาแก้ท้องเสียจำพวก ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ผงเกลือแร่ ยาลดกรดชนิดน้ำ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าชนิดเม็ดติดตัวไปด้วย เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2558 - 20 ธันวาคม 2558 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 123,595 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคอุจจาระร่วง 1,042,266 ราย เสียชีวิต 8 ราย ทั้ง 2 โรคนี้ มีอาการใกล้เคียงกันคือมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ได้ การดูแลเบื้องต้นให้ดื่มผงละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในร้านขายยาทั่วไปดื่มแทนน้ำ หรืออาจปรุงดื่มเองโดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี. ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นและดื่มแทนน้ำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ขอให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณะสุข
ภาพประกอบจาก istockphoto
ภาพประกอบจาก istockphoto
เนื้อหาโดย : Sanook! (Partner)